วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552



*** ความตายของบุคคลตามกฎหมาย ***

ภาวะสมองตาย (อังกฤษ: brain death) เป็นบทนิยามที่ทางนิติศาสตร์และทางแพทยศาสตร์ใช้หมายเอาการตายของบุคคล ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นในช่วง พ.ศ. 2503 ทั้งนี้ โดยทั่วไปมักหมายเอาภาวะที่ไม่สามารถฟื้นฟูระบบการทำงานของสมองของบุคคลได้อีกแล้ว อันเป็นผลมาจากการตายหมดแล้วทุกส่วนของเซลล์ประสาทในสมอง (อังกฤษ: total necrosis of cerebral neurons) เพราะเหตุที่ได้ขาดเลือดและออกซิเจนหล่อเลี้ยง
ในขณะที่ยังมีการโต้แย้งกันในทางหลักวิชาการแพทย์ซึ่งถือว่าผู้ป่วยสมองตายคือผู้ที่ตายแล้วในทางการแพทย์ กับหลักวิชานิติศาสตร์ที่ยังไม่ยอมรับกันว่าการตายโดยอาการสมองตายนั้น เป็นการตายแล้วอย่างแท้จริงกล่าวคือ

ในทางกฎหมาย นี้มีหลักถือมาช้านานในการพิสูจน์ความตายของบุคคลก็คือ ต้องตายตามธรรมชาติโดยหมดลมหายใจและหัวใจหยุดเต้นอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของรัฐและของเอกชนก็ยังมีความจำเป็นต้องยุติการรักษาคนไข้สมองตายต่อไป ด้วยเหตุผลที่อาจสรุปได้ดังนี้
- ประการแรก เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์เนื่องจากผู้ป่วยประเภทนี้อยู่ในสภาพสิ้นหวังที่จะรักษาให้ฟื้นคืนเป็นบุคคลปกติได้ การรักษาโดยการช่วยต่อชีวิตไปไม่มีที่ยุติย่อมเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งฝ่ายรัฐหรือฝ่ายเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่ค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าปกติอย่างแน่นอน
- ประการที่สอง เป็นเหตุผลทางด้านสิทธิมนุษยชนเพราะการที่บุคคลหนึ่งที่มีอาการสมองตายและมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการใช้เครื่องช่วยชีวิตไปตลอดชีวิตนั้น ย่อมก่อให้เกิดความทุกขเวทนามากกว่าจะเกิดประโยชน์แก่บุคคลนั้นเอง และมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปล่อยให้เขาหมดสภาพบุคคลไปน่าจะเหมาะสมยิ่งกว่า
ผู้ป่วยที่สมองตาย และแพทย์ได้ทำการยุติการช่วยชีวิตแล้วนั้น สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ตาม "ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่๓) พ.ศ. ๒๕๓๘ ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพกรรม พ.ศ.๒๕๒๓" ข้อ๓ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วย
ปัจจุบัน ทั้งทางนิติศาสตร์และทางแพทยศาสตร์ กำหนดให้ภาวะสมองตายเป็นการตายในทางกฎหมายของบุคคล ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าระบบร่างกายทั้งปวงจะค่อย ๆ สิ้นสุดลงซึ่งการทำงานตามลำดับภายหลังจากที่สมองสิ้นสุดการทำงานลง

ด้วยเหตุนี้ แม้บุคคลที่สมองตายแล้วจะดำรงอยู่ได้ด้วยอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น การให้ออกซิเจน การใช้เครื่องเปลี่ยนถ่ายโลหิต แต่แพทย์ก็สามารถประกาศได้ว่าบุคคลนี้ถึงแก่ความตายแล้ว

2 ความคิดเห็น:

  1. เพื่อน วิชาการดีน่ะ

    ตอบลบ
  2. สาระ น่าสนใจ เสริมการวิเคราะห์ที่เป็นตัวเราเองเพิ่มหน่อยนะ

    ตอบลบ