วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

***มรดก***
ตามมาตรา 1600 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่า โดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มรดก หรือกองมรดกของผู้ตายนั้น มิได้หมายความถึงเฉพาะแต่ทรัพย์สินของผู้ตายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆของผู้ตายที่ไม่ใช่ทรัพย์สินด้วย แต่อย่างไรก็ดี สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆของผู้ตายอันน่าจะสามารถตกทอดในมรดกแก่ทายาทได้นั้น จะต้องไม่มีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ซึ่งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆของผู้ตายนั้นอาจเกิดจากนิติกรรมสัญญาหรือนิติเหตุ เช่น ซื้อขาย กู้ยืม จำนำ จำนอง หรือละเมิด เป็นต้น
กองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ไม่ว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายโดยธรรมชาติหรือโดยคำสั่งศาลให้เป็นคนสาบสูญก็ตาม ทรัพย์สินต่างๆของผู้ตายย่อมตกทอดให้แก่ทายาทต่อไป โดยทายาทของผู้ตายไม่จำเป็นต้องแสดงเจตนาที่จะรับมรดกนั้น เพราะทายาทมีอำนาจที่จะเข้ามาดำเนินการอันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกนั้นได้ทันทีนับแต่เจ้ามรดกตาย

ทายาทดังกล่าวนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ

1. ทายาทซึ่งมีสิทธิตามกฎหมาย
หรือที่เรียกว่า ทายาทโดยชอบธรรมซึ่งจะมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดา
“ทายาทโดยชอบธรรม” หมายถึง ทายาที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเมื่อเจ้ามรดกตาย
ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.1 ทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติ สามารถจำแนกออกได้ เป็น 6 ลำดับ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมาของเจ้ามรดก ได้แก่ บุตร หลาน เหลน รวมถึง บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรมด้วย
(2) บิดา มารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดา หรือมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
ทายาททั้ง 6 ลำดับนี้ไม่ใช่ว่าจะมีสิทธิรับมรดกพร้อมกันทั้ง 6 ลำดับ ในแต่ละลำดับต่างก็มีสิทธิในการรับมรดกก่อนและหลังกันตามลำดับที่กฎหมายระบุไว้ เว้นแต่ ทายาทลำดับที่(1) คือ ผู้สืบสันดานและทายาทลำดับ(2) คือ บิดา มารดา เท่านั้นที่มีสิทธิได้รับมรดกด้วยกันคือ ไม่ตัดสิทธิในการรับมรดกซึ่งกันและกัน ซึ่งกฎหมายยอมให้บิดา มารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร ดังนั้นหากมีทายาทในลำดับ (1) หรือ (2) ทายาทลำดับต่อไปก็ไม่มีสิทธิที่จะรับมรดก
1.2 ทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส
หมายถึง ทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรสของเจ้ามรดก ซึ่งอาจเป็นสามีหรือภรรยาของเจ้ามรดก แต่ต้องเป็นสามีภรรยากันโดยชอบกฎหมาย ถ้าเป็นสามีภรรยาที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยที่มิได้มีการหย่าขาดจากกันตามกฎหมายก็ยังถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันอยู่ ซึ่งคู่สมรสนี้กฎหมายถือว่ามีสิทธิในการรับมรดกถือเสมอเป็นทายาทลำดับต้น

2. ทายาทซึ่งมีสิทธิตามพินัยกรรม
หรือที่เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม ในกรณีนี้อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีนิติบุคคลเป็นผู้รับพินัยกรรมนั้นก็มีข้อสำคัญว่ามรดกที่จะได้รับพินัยกรรมนั้นต้องอยู่ใต้ขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ถ้านอกขอบวัตถุประสงค์ก็ไม่มีสิทธิรับพินัยกรรมได้ ผู้รับพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นญาติของเจ้ามรดกอาจเป็นบุคคลอื่นก็ได้ ผู้จัดการมรดก มีอยู่ 2 ประเภท คือ
2.1 ผู้จัดการมรดกที่ตั้งโดยพินัยกรรม
จะต้องมีข้อกำหนดของพินัยกรรมระบุไว้อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่างๆ รวมถึงมีคุณสมบัติตามที่กฎหมาย กำหนดไว้ด้วย คือ
2.1.1 ต้องบรรลุนิติภาวะ
2.1.2 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
2.1.3 ไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
2.2. ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล
จะต้องมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งภายใต้เงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่กฎหมายระบุไว้ และศาลก็จะมีคำสั่งแต่งตั้ง
ในการร้องขอจัดการมรดกนั้นได้จำกัดไว้เฉพาะบุคคล 3 ประเภท ตามมาตรา 1713 คือ
2.2.1 ทายาท ได้แก่ ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม
2.2.2 ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในทางมรดกทางพินัยกรรม หรือเกี่ยวกับทรัพย์สินในกองมรดก
เช่น คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
2.2.3 พนักงานอัยการ
บุคคลทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวนี้ที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งให้ตนเองหรือบุคคลอื่นซึ่งมิได้เกี่ยวข้องเป็นทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้จัดการมรดกได้ การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก การที่ศาลจะแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน

การคัดค้านคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
ผู้มีสิทธิร้องคัดค้านต้องเป็น
1) ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก
2) ผู้มีส่วนได้เสีย
3) พนักงานอัยการ
ซึ่งหมายถึงผู้มีสิทธิร้องคัดค้านนั้นจะต้องอยู่ในฐานะของผู้มีสิทธิร้องขอจัดการมรดกได้

การยื่นคำร้องคัดค้าน
ผู้ร้องคัดค้านต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกต้องยื่นคำร้องขอก่อนที่จะมีการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น